ประวัติไก่ชนป่าก๋อย ป่าซาง


     พ่อหลวงสุพจน์ วิจิตร    ผู้ใหญ่บ้านป่ารกฟ้า ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง  เมื่อประมาณ 30ปีก่อน เมื่อพ่อหลวงสุพจน์ ได้ถูกเกณฑ์ทหาร เข้าประจำการในเขตภาคตะวันออก    หลังจากปลดประจำการแล้วก็ได้นำไก่ชนของเมืองจันทน์กลับมาด้วย เป็นไก่สีเหลืองเลาตัวผู้ มีลีลาการชนคล้ายๆ ไก่เชิงตราด คือ มัดล็อค มุด ตีตัว และลอดทะลุหลัง   ส่วนตัวเมียเจ้าของไม่ให้เพราะห่วงสายพันธุ์        เมื่อกลับมาถึงบ้านป่ารกฟ้า ก็ได้นำมาพัฒนาผสมพันธุ์กับไก่พื้นบ้าน ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ เดินหน้าจิกหลังตีทั่วตัว ไม่ต้องใช้เชิงก่อน   เป็นไก่รอยเล็ก น้ำหนักราว1.8-2 กิโลกรัม         ปรากฎว่าลูกครอกแรกๆถือว่าใช้ได้ แต่พอต่อๆมาก็เริ่มใช้ไม่ได้ เพราะสาเหตุการผสมครอกหรือสายเลือดเดียวกันทุกๆปี ทำให้เกิดเลือดชิด     พ่อหลวงสุพจน์จึงกลับไปเมืองจันทน์อีกครั้ง เพื่อเสาะหาสายพ่อพันธุ์เหลืองเลาตัวเก่ง   และก็ได้กลับมาหลายตัว เมื่อผสมไปได้หลายปี ปรากฎว่าลูกไก่ที่ออกมามีโครงสร้างตามสายพันธุ์และที่สำคัญมีชั้นเชิงดีกว่าพ่อและแม่พันธุ์เดิม  คือได้เชิงดีทั้งจากพ่อและแม่  โดยเฉพาะเชิงเดินหน้าตีและจิกหลังตีทั่วตัว ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะเด่นของไก่สายพันธุ์นี้     ต่อมาก็มีนักเล่นไก่ต่างหมู่บ้านได้นำสายพันธุ์ไก่นี้ไปเลี้ยงและพัฒนาต่อเนื่อง
    หมู่บ้านเหล่าป่าก๋อย    ก็เป็นอีกหมู่บ้านที่ได้รับสายพันธุ์ไก่มาจากพ่อหลวงสุพจน์    และไก่สายพันธุ์จิกกัดไม่เลือกที่ จากบ้านเหล่าป่าก๋อยนี้เอง ที่ถูกนำออกชนและสร้างชื่อเสียง จนขนานนาม ไก่สายพันธุ์นี้ว่า "ไก่เหล่าป่าก๋อย"    
    ยังเล่าต่อกันอีกว่าในการพัฒนาไก่เหล่าป่าก๋อยในรุ่นต่อๆมา มี กำนัน แก้วปาปวน     อดีตกำนัน3สมัย แห่งตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง ได้เป็นผู้อนุรักษ์และพัฒนาไก่ชนเหล่าป่าก๋อยเช่นกัน โดยได้สายพันธุ์มาจากพ่อหลวงสุพจน์  
    คุณเชียร สันกำแพง   ประธานชมรมอนุรักษ์ไก่ชนเมืองเหนือ จังหวัดลำพูน ได้เล่าถึงความเป็นมาว่า    เมื่อประมาณปี 2526-2527 สมัยนั้นเซียนไก่ชนไม่มีใครเล่นไก่ชนที่มีเชิงลักษณะไก่เหล่าป่าก๋อย แต่จะนิยมเล่นไก่สายพันธุ์พม่ามากกว่า  คุณเชียร เล่าต่อไปว่า แต่เดิมนั้นพ่อหลวงสุพจน์และกำนันแก้ว ปาปวน เป็นผู้เลี้ยงและพัฒนาพันธุ์  แต่ก็ยังไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจกับไก่ชั้นเชิงนี้เท่าไร จนกระทั่ง    นายเดช ปาปวน ชาวหมู่บ้านเหล่าป่าก๋อย ได้เหล่ากอสายพันธุ์ไก่นี้มาจากพ่อหลวงสุพจน์ และนำออกชนตามสนามชนไก่ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และจังหวัดใกล้เคียง และได้รับชัยชนะ   สร้างชื่อเสียงให้กับไก่ชนสายพันธุ์นี้เป็นอย่างมาก   สมัยนั้นเล่ากันว่า เซียนทางภาคเหนือพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ไก่อะไรจิกกัดทั้งตัว"  ไก่ตัวที่สร้างชื่อเสียงให้นายเดช ปาปวน เป็นอย่างมาก เช่น ไอ้สาวิดีโอ ,ไอ้สาน้อย     และนายเดช ปาปวน มีเพื่อนที่สนิทและเล่นไก่ด้วยกัน คือ นายจำลอง ชัยปัน หรือที่รู้จักกันในนาม นายยืน  ชาวบ้านหนองผ้าขาว ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน   ก็เป็นผู้ได้รับเหล่ากอและพัฒนาสายไก่เหล่าป่าก๋อย หลังจากนายเดช ปาปวน เสียชีวิตแล้ว
    นายจำลอง ชัยปัน หรือ นายยืน เปิดเผยว่า เดิมที่ตนและนายเดช ปาปวน เป็นเพื่อนสนิทกันมาก นายเดชเป็นชาวบ้านเหล่าป่าก๋อยและเป็นหลานของกำนันแก้ว ปาปวน      หลังจากที่นายเดช เสียชีวิต ตนเองได้นำไก่สายพันธุ์ของนายเดชมาเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์สืบต่อมา     ไก่ชนที่ทำชื่อเสียงให้กับ นายจำลอง ชัยปัน หรือนายยืน  ได้แก่ ไก่ชื่อไอ้แจ้ ซึ่งเป็นพ่อพันธุ์และให้ลูกเก่งออกมาหลายตัว คือ ไอ้ทหารเรือ ไอ้แดงน้อย ไอ้แดงหน้าง่อม  ตัวที่นายยืน พูมใจที่สุดก็คือ ไอ้หนุ่มเหนือ คาราบาว หรือไอ้สามแสนสาม  ชนชนะไก่พม่าที่สนามชนไก่ เวล จังหวัดนครปฐม  เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2543  ไก่ตัวนี้เป็นไก่ลูกเพาะของตน เกิดที่ บ้านหนองผ้าขาว หรือบ้านวังสวนกล้วย         ไก่ชนไอ้หนุ่มเหนือคาราบาว ตนเองเพาะเลี้ยงและแบ่งกับครูรัน โดยครูรันเลี้ยงและออกชนในเขตภาคเหนือ จากนั้นครูรันได้ขายต่อให้กับคุณเลิศพงศ์ อดิศร หรือทนายก้อง
    ไอ้หนุ่มเหนือคาราบาว มาจากสายพันธุ์ไอ้แจ้ ซึ่งเป็นพ่อพันธุ์สายหลักของนายยืน  ไอ้แจ้เป็นพ่อไก่ให้ลูกเก่ง  และไอ้แดงหน้าง่อมก็เป็นไก่เก่ง ลูกของไอ้แจ้  และเป็นพ่อของไอ้หนุ่มเหนือคาราบาว    ส่วนแม่พันธุ์ ชือ แม่ยักษ์  ซึ่งให้ลูกเก่งๆหลายตัว เช่น ไอ้สองหมื่นเก้า ,ไอ้เขียววัว,ไอ้องครักษ์จั่น ,ไอ้จิ้งหรีดทอง ,ไอ้แมงจอน เป็นต้น 
ข้อมูลจาก http://www.oknation.net

ไม่มีความคิดเห็น: